ที่พักแนะนำในภูเก็ต

-


ชอบเรื่องนี้ช่วยกด Like กด Share ให้ด้วยนะครับ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต

 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต  ตั้งอยู่หมู่ที่ 9  ตำบลเทพกษัตรี   ถนนเทพกษัตรี  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต  ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 เดิมเรียกว่าแปลงเพาะขยายพันธุ์ยางอำเภอถลางจังหวัดภูเก็ต  
มีหน้าที่ผลิตและขยายยางพันธุ์ดีสู่เกษตรกรเท่านั้น   ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 เปลี่ยนเป็นสถานีทดลองยางถลางสังกัดกองการยาง
กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติงานด้านวิจัยทดลองยาง การผลิตและขยายพันธุ์ยางและการถ่ายทอดเทคโนโลยียาง

ในปี พ.ศ. 2525   มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ในกรมวิชาการเกษตร   จึงจัดให้สถานีทดลองยางถลาง  เป็นสถานีเครือข่ายของ
ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี  สังกัดสถาบันวิจัยยาง  กรมวิชาการเกษตร   ในปี พ.ศ. 2535   เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีทดลองยางภูเก็ต      ต่อมาปี
พ.ศ. 2546 ปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่เป็น ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตภูเก็ต สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7
กรมวิชาการเกษตร และในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552   เปลี่ยนเป็น "ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต"  จนถึงปัจจุบัน

ในปี 2545 ศูนย์ฯ  ได้รับงบประมาณ ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อดำเนินการพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมของศูนย์ฯ  ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism)   โดยมุ่งให้ความรู้ทางการเกษตรควบคู่กับความเพลิดเพลินจากการชมกิจกรรมและพืชพรรณที่หลากหลาย  รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอันร่มรื่น

พื้นที่ภายในศูนย์ฯ รวม 144 ไร่  ส่วนใหญ่เป็นแปลงปลูกพืชชนิดต่างๆ และเนื่องจากภารกิจเดิมนั้นได้ปฏิบัติงานด้านยางพาราเป็นหลักดังนั้นจุดเน้นศูนย์ฯ จึงมุ่งให้สถานที่แห่งนี้เป็น "ศูนย์ท่องเที่ยวยางพารา"  ที่ประกอบด้วยกิจกรรมของยางพาราอย่างครบวงจร


ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต มีจุดท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตยางพาราครบวงจร อีกทั้ง ไม่ควรพลาดชมแปลงรวบรวมพรรณพืชอนุรักษ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีจุดท่องเที่ยวอื่นๆ ที่สามารถเดินชมใต้บรรยากาศร่มรื่น เย็นสบาย พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำแผนผังศูนย์ฯ เพื่อความสะดวกในการเดินชม

อาคารเอนกประสงค์
ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต  แวดล้อมด้วยพันธุ์ไม้รอบพื้นที่อาคารเอนกประสงค์ ตกแต่งบริเวณหน้าอาคารด้วยไม้ดอกไม้ประดับสวยสด งดงามภายในอาคารสามารถใช้เป็นห้องประชุมหรือดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้มีการจัดฉายสไลด์ วีดีทัศน์เกี่ยวกับกิจกรรมการผลิตยางพาราครบวงจร แปลงปลูกไม้ดอก ไม้ตัดใบปลูกร่วมในสวนยาง การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราและพรรณพืชเด่นๆ โดยมีเจ้าหน้าที่บรรยายให้กับนักท่องเที่ยวก่อนพาชมไปยังจุดท่องเที่ยวต่างๆ ที่น่าสนใจภายในศูนย์ฯ



สวนรวบรวมพันธุ์พืชอนุรักษ์ และสวนพริกไทย

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต ได้จัดทำสวนรวบรวมพรรณพืชบนพื้นที่ 4 ไร่ โดยมี จุดประสงค์เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับผู้สนใจทั่วไป  อันนำไปสู่การสร้างจิตสำนึก และหวงแหนพืช ในท้องถิ่นของไทย ได้รวบรวมพรรณพืชชนิดต่างๆ  จำนวน 9 กลุ่ม ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์กว่า 400 ชนิด
อันได้แก่  พรรณไม้หอม พืชสมุนไพร กล้วยไม้ป่า ผักพื้นบ้านปาล์ม ไม้ป่า ไม้ผลพื้นเมืองไม้ดอก
ไม้ประดับ และพืชอุตสาหกรรม  ซึ่งนักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินขณะเดินชม  และบางครั้งอาจได้กลิ่นหอมเย็นจากพรรณไม้หอม และสมุนไพรบางชนิดอีกด้วย ติดกันนั้นยังมีแปลงพริกไทยเรียงรายสวยงาม
แปลกตา นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดและแวะชม


เที่ยวสวนป่า

ห่างจากสวนรวบรวมพันธุ์ไม้ประมาณ 200 เมตร คือบริเวณสวนป่าดันร่มรื่นด้วยแมกไม้ใหญ่บน พื้นที่ 3 ไร่  ภายในสวนป่าได้จัดทำทางเดินชมพรรณไม้กว่า 200 ชนิด  พร้อมติดป้ายบอกชื่อต้นไม้ต่างๆ
ไว้สำหรับผู้สนใจศึกษาพรรณไม้ป่า เช่น ส้าน พลับพลา ทังหัน  ต้นลูกเลือด    และกล้วยไม้ป่าหาชมยาก
ประมาณ 20 ชนิด    อาทิ เอื้องเงินหลวง   เอื้องผึ้ง   เอื้องช้างนาว  เอื้องมัจฉานุ  หวายตะมอย   ช้างกระ
กะเรกะร่อน เค้ากิ้ว ไอยเรศ เอื้องชนะ เป็นต้น  หรือจะนั้งพักผ่อนหย่อนใจภายใต้ต้นไม้ใหญ่   ที่น่าสนใจ
เป็นอย่างยิ่ง        สวนป่าแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งหากินของบรรดานกหลากชนิด   เมื่อเดินเข้ามาภายใน
สวนป่าแห่งนี้ จึงได้ยินเสียงร้องขับขานของเหล่านกน้อยกู่ก้องไปทั่ว



ชมแปลงยางพาราพันธุ์บราซิล

ยางพารา นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมาก   แปลงปลูกยางพาราบนพื้นที่
40 ไร่ ภายในศูนย์ฯ จะช่วยทำให้ผู้มาเยือนสามารถรับรู้และเข้าใจว่ากว่าจะได้ยางแผ่นเพื่อนำมาใช้ใน
งานอุตสาหกรรมผลิตเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ นั้น  ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย นับตั้งแต่การนำ
เมล็ดยางจากประเทศบราซิลมาปรับปรุง  คัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลาในการค้นคว้าวิจัยเป็น
เวลายาวนาน จึงสามารถนำมาทดลองปลูกลงแปลงเพื่อให้ได้ผลผลิตคือน้ำยางมากขึ้น นอกจากจะได้ชม แปลงยางพารา ที่ปลูกเป็นแนวเรียงรายให้ความรู้สึกร่มรื่น โปร่งสบายเมื่อมองไกลสุดสายตาแล้ว
นักท่องเที่ยวจะได้ชมการสาธิตวิธีกรีดยางพาราที่ต้องอาศัยความรู้ และประสบการณ์อย่างมาก เนื่องจาก
การกรีดยางต้องให้ได้น้ำยางมากที่สุด แต่ต้นยางเสียหายน้อยที่สุด สิ่งเหล่านี้คือหัวใจหลักของการ
กรีดยางที่ให้ได้ทั้งคุณภาพปริมาณน้ำยาง และประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรสวนยางได้ด้วย





ชมการผลิตยางแผ่นชั้นดี

หลังจากชมแปลงปลูกยางพารา และการสาธิตการกรีดยางแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถชมการผลิต
ยางแผ่นได้ที่โรงอบยาง นับตั้งแต่การนำน้ำยางสดมาผสมกับน้ำกรดเพื่อให้ยางจับตัวแล้วนำมาเทลง
ตะแกรงปล่อยให้แข็งตัวจะได้ก้อนยางนำมานวดให้เป็นแผ่น จากนั้นเข้าเครื่องรีดแล้วนำเข้าอบ โดย
เฉพาะการนำยางแผ่นดิบไปบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานสะอาดที่ศูนย์ฯ แห่งนี้สร้าง
ขึ้นโดยใช้พื้นที่ใต้หลังคาทำเป็นราวตากแผ่นยาง และใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์อบให้แห้ง ทั้งนี้เพื่อ
ลดการนำไม้มาทำเป็นเชื้อเพลิง  ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย




แปลงไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ตัดใบเสริมรายได้ในสวนยาง

ไม้ตัดใบเสริมรายได้ในสวนยาง ภายใต้ร่มเงาต้นยางพาราที่ยืนต้นสูงตระหง่าน แผ่กิ่งก้านบังแสง
รำไรให้กับพื้นที่ว่างระหว่างแถวต้นยางศูนย์ฯ จึงได้จัดทำแปลงสาธิตขนาด 10 ไร่ ปลูกพืชอื่นเสริม
รายได้ในสวนยางใหญ่


สิ่งที่น่าสนใจภายในแปลงนี้  คือ ไม้ดอก  และไม้ตัดใบที่ปลูกร่วมแปลง  เช่น แปลงไม้ดอกสกุล
หน้าวัว อาทิ เปลวเทียนภูเก็ต เลดี้เจน และหน้าวัว พันธุ์ผกามาศ เป็นต้น แปลงไม้ดอกวงศ์ขิงบางชนิด
เช่น ขิงอินโดนีเซียน แปลงปลูกดอกกระเจียว  ส่วนแปลงไม้ตัดใบก็มีให้ชม เช่น ซานาดู หมากเหลือง
ไผ่ฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมีแปลงผักพื้นบ้านของภาคใต้ปลูกร่วมกับยางพารา เช่น ผักเหลียง
ผักหวานป่าทำมัง เป็นต้น ซึ่งนักท่องเที่ยวและเกษตรกรที่สนใจสามารถเดินชมแปลงไม้ดอกและ ผักพื้นบ้านเหล่านี้ได้อย่างเพลิดเพลิน



ชมศิลปะประดิษฐ์จากยางพารา

ยางพารา ถือเป็นพืชเด่นของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต  ดังนั้นหากมาชมสวนยางและ ขั้นตอนการผลิตยางอย่างครบวงจรแล้ว ไม่ได้มาชมศิลปะประดิษฐ์จากยางพาราก็จะดูขาดความสมบูรณ์
ในการชมไปอย่างน่าเสียดาย เพราะในอาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีมีการสาธิตขั้นตอนการแปรรูปจาก
ยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำยางสดข้นนำมาประดิษฐ์เป็นตุ๊กตายาง
ฟองน้ำ  พวงกุญแจรูปสัตว์ต่างๆ เบาะรองนั่ง นำน้ำยาง และใบยางมาทำดอกไม้ประดิษฐ์สีสันสวยงาม
กระบวนการผลิตเพื่อแปรรูปยาง เป็นการผสมผสานระหว่างผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และ ศิลปประดิษฐ์  ซึ่งผู้มาเยี่ยมชมก็สามาถทดลองประดิษฐ์งานศิลป์จากยางพาราด้วยตนเองได้



ชมเครื่องมือเก่าเกษตรกรรม

ซึ่งใช้ในวิธีดั้งเดิมของเกษตรกรไทย เช่น คันไถ เครื่องสีข้าวเปลือก หินโม่แป้ง ไซดักปลา เหล็กปอกเปลือกมะพร้าว  ตาชั่งชี  คันธนู เป็นต้น


สอบถามเพิ่มเติม โทร. (076) 311-049



แผนที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต
พิกัด GPS 8.066496,98.34246400000002

คลิก Like เพื่อติดตามข้อมูลท่องเที่ยวจากพวกเราได้ที่นี่

บทความที่ได้รับความนิยม